สมาคมเพื่อนชุมชนร่วม กนอ. จัดเวทีระดมสมอง ตั้งเครือข่ายชุมชนเฝ้าระวังสิ่งแวดล้อมเชิงรุก ในพื้นที่มาบตาพุดคอมเพล็กซ์ดูแลพื้นที่ครอบคลุม 5 นิคมฯ 1 ท่าเรือ ดึง 54 ชุมชน เป็นแนวร่วมเฝ้าระวังเหตุ เพื่อลดผลกระทบให้เกิดขึ้นน้อยที่สุด
|
นายบุญเชิด สุวรรณทิพย์ ผู้บริหารสมาคมเพื่อนชุมชน เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สมาคมเพื่อนชุมชน ร่วมกับ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เครือข่ายผู้นำและผู้แทนชุมชนในพื้นที่จังหวัดระยอง จัด “สัมมนาเครือข่ายชุมชนเฝ้าระวังสิ่งแวดล้อมเชิงรุกในพื้นที่มาบตาพุดคอมเพล็กซ์” เพื่อยกระดับด้านการเฝ้าระวังสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ และสร้างเครือข่ายร่วมกันระหว่างภาครัฐ โรงงานอุตสาหกรรม และชุมชน ในการเฝ้าระวังและสังเกตการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมเชิงรุก เพื่อลดผลกระทบที่เกิดขึ้นกับชุมชนให้น้อยที่สุด
ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าวถือการรวมพลังเครือข่ายชุมชนอย่างเข้มแข็ง ที่มีการตั้งคณะทำงานประจำพื้นที่เครือข่ายเฝ้าระวังสิ่งแวดล้อมเชิงรุก 7 คณะ ซึ่งประกอบด้วย คณะทำงานประจำพื้นทีดังนี้ ได้แก่ 1. นิคมอุตสาหกรรม อาร์ไอ แอล 2.นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ทิศตะวันออก 3.นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดและเขตท่าเรือ 4.นิคมอุตสาหกรรมเหมราชตะวันออก ทิศเหนือ 5.นิคมอุตสาหกรรมเหมราชตะวันออก ทิศตะวันตก 6.นิคมอุตสาหกรรมผาแดง 7.นิคมอุตสาหกรรมเอเชีย
นายบุญเชิดกล่าวว่า การทำงาน ใน 7 คณะทำงาน จะเป็นเครือข่ายเฝ้าระวังสิ่งแวดล้อมที่ครอบคลุมพื้นที่ชุมชน 52 ชุมชน โดย แบ่งเป็น 38 ชุมชนมาบตาพุด และ 14 เทศบาลตำบลบ้านฉาง และครอบคลุมพื้นที่ 5 นิคมและอีก 1 ท่าเรือ ทำให้การการเฝ้าระวังสิ่งแวดล้อม เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ในด้านการบริหารจัดการดูแลด้านสิ่งแวดล้อมที่มีพื้นที่ชัดเจน และสามารถเข้าไปแก้ไขปัญหาหรือแจ้งเตือนชุมชนได้อย่างรวดเร็วและตรงจุด เพื่อลดการสูญเสียและผลกระทบที่เกิดขึ้นกับชีวิตและทรัพย์สิน
สำหรับแนวทางในการปฏิบัติการของ “เครือข่ายชุมชนเฝ้าระวังสิ่งแวดล้อมเชิงรุก”จะทำหน้าที่ช่วยเหลือ และสนับสนุน กนอ. ในกรณีที่เกิดเหตุหรือพบเห็นเหตุการณ์ที่ผิดปกติทางด้านสิ่งแวดล้อม ให้ชุมชนแจ้งไปยังผู้รับผิดชอบยังหัวหน้าคณะที่รับผิดชอบในแต่ละพื้นที่ ซึ่งคณะทำงานจะทำหน้าที่ในการวิเคราะห์ร่วมกันตรวจสอบ แหล่งที่มาของเหตุที่เกิดขึ้น พร้อมทั้งทำหน้าที่แจ้งไปยัง ศูนย์เฝ้าระวังและควบคุมคุณภาพสิ่งแวดล้อม หรือ EMCC ของกนอ. เพื่อให้เจ้าหน้าที่ กนอ. ลงมาดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงอีกครั้ง หากในกรณีที่เกิดเหตุที่รุนแรง และอาจจะส่งผลกระทบต่อชุมชน ทางคณะทำงานจะมีการติดต่อประสานงานไปยังชุมชน วัด โรงเรียนให้รับทราบข้อมูลจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น พร้อมแนวทางการแก้ไขปัญหา และสร้างความเชื่อมั่นให้กับชุมชนเชื่อมั่นในมาตรการที่จะช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงที
ขณะเดียวกันคณะทำงานในแต่ละพื้นที่ก็จะมีการกระจายข่าวเชิงรุกอย่างรวดเร็ว ลดกระแสข่าวลือที่สร้างความสับสนของข้อมูล เพื่อสร้างความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในพื้นที่ให้มากขึ้น
ทั้งนี้ เพื่อให้เครือข่ายและชุมชนเกิดความเข้าใจในแนวทางปฏิบัติ และความรู้ในการใช้เครื่องมือเก็บตัวอย่างอย่างถูกต้อง คณะทำงานยังได้มีการลงพื้นที่โดยรอบทั้ง 52 ชุมชน เพื่อให้ความรู้แก่ประชาชนในเรื่อง กลิ่น และสารเคมี เพื่อจะได้นำมาส่งให้หน่วยงานทำการวิเคราะห์ได้อย่างถูกต้องถึงที่มาของกลิ่นและสารเคมีดังกล่าว
“นับเป็นอีกหนึ่งแผนงานของ โครงการเพื่อนช่วยเพื่อน ที่สมาคมเพื่อนชุมชนได้ร่วมมือกับ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เพื่อเป้าหมายสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมในพื้นที่ให้มีระบบบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยที่ดีกว่ากฎหมายกำหนด ในลักษณะเพื่อนช่วยเพื่อน ควบคู่กับการดูแลคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน ให้อุตสาหกรรมและชุมชน อยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน”นายบุญเชิด กล่าว
|
ฝ่ายข่าวประชาสัมพันธ์อมตะนคร ชลบุรี รายงาน
|
|
|