|
เมื่อเวลา 15.10 วันที่ 6 ธ.ค.ที่ สภ.แสนสุข ตำรวจ ภ.จว.ชลบุรี ได้ควบคุมตัว ส.ต.อ.วิชาญ แพ่งทอง รอง ผบ.หมู่ (ป) สภ.แสนสุข จว.ชลบุรี ในข้อหา ทุจริตหลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง และโดยการหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่ 3 ตาม ม. 341 และผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบฯ ตาม ม.157 ประมวลกฎหมายอาญา หลังก่อเหตุตบทรัพย์ผู้เสียหายเป็นหญิงวัย 70 ปี จากคดีฉ้อโกงซื้อสินค้าออนไลน์ เป็นเงินกว่า 250,000 บาท
โดยต่อมา พล.ต.ท.ธัชชัย ปิตะนีละบุตร รรท.จเรตำรวจแห่งชาติ เดินทางมาตรวจสอบ และสอบปากคำด้วยตัวเองพร้อมด้วย พล.ต.ต.ธวัชเกียรติ จินดาควรสนอง ผบก.ภ.จว.ชลบุรี โดยหลังสอบปากคำได้คุมตัวขอฝากขังต่อศาลจังหวัดชลบุรี พร้อมคัดค้านการประกันตัวขณะเดียวกัน ตำรวจภูธรจังหวัดชลบุรีมีคำสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนแล้วด้วย
พล.ต.ท.ธัชชัย ปิตะนีละบุตร รรท.จเรตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า เรื่องนี้ ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงในเบื้องต้นแล้วพบการกระทำผิดจริง นิ้วไหนร้ายต้องตัดทิ้ง ตำรวจทำดีเราชื่นชม แต่ทำไม่ดีต้องลงโทษอย่างเด็ดขาด กรณีนี้สั่งการกำชับต้องติดตามตัวมาดำเนินคดีโดยเร็วเหตุ ทันทีที่ทราบเรื่อง ผบก.ภ.จว.ชลบุรี สั่งการให้ สภ.แสนสุข ตรวจสอบ และรายงานข้อเท็จจริง ตั้งแต่วันที่ 11 พ.ย. ที่ผ่านมา และดำเนินการทางคดีและทางวินัยมาโดยตลอด โดย พ.ต.อ.ปัญจนนท์ วิจิตรโท ผกก.สภ.แสนสุข ได้ทำรายงานชี้แจง พร้อมตั้งกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง ได้เชิญผู้เสียหายมาพบและพูดคุย ซึ่งผู้เสียหายแจ้งความประสงค์ว่าขอให้ทาง ส.ต.อ.หาเงินมาเพื่อคืนให้ครบถ้วน 250,000 บาท ก่อนดำเนินคดีเพราะเกรงว่าหากถูกดำเนินคดีทันทีจะไม่ได้รับเงินคืน พร้อมนัดหมายกำหนดเวลานัดรับเงินไว้แล้ว แต่ต่อมา ส.ต.อ.นายดังกล่าว หายตัวไป ไม่สามารถติดต่อได้ และไม่ได้มารายงานตัวในการปฏิบัติหน้าที่ ผู้เสียหายก็ไม่ได้รับเงินคืนตามที่นัดหมายไว้แต่อย่างใด ภ.จว.ชลบุรี จึงได้สั่งการให้ สภ.แสนสุข เร่งรัดออกหมายจับ ส.ต.อ.และติดตามจับกุมตัวมาเพื่อดำเนินคดีได้ตามกฎหมาย
โดยพฤติการณ์ของ ส.ต.อ.นายนี้ เป็นสิ่งที่น่าละอาย ซ้ำเติมประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน และต้องดำเนินคดีอย่างเด็ดขาด มีหลักฐานชัดเจน โดยเหตุเกิดจากหญิง อายุ 70 ปีเดินทางมาแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน สภ.แสนสุข เรื่องถูกฉ้อโกงออนไลน์ มูลค่าความเสียหายกว่า 2,300,000 บาท โดยได้พบกับ ส.ต.อ.นายนี้ ซึ่งปฏิบัติหน้าที่เสมียนเวรประจำวันรับแจ้งความ ส.ต.อ.ได้เข้าไปพูดคุยกับผู้เสียหาย และบุตรชาย อ้างว่ามีเพื่อนอยู่ บช.สอท. รับผิดชอบคดีอาชญากรรมออนไลน์ต้องการจะช่วยเหลือโดยวิธีการเอาเกลือจิ้มเกลือ โดยอ้างว่าเคยช่วยนักศึกษาคนหนึ่งแล้วได้เงินคืน พร้อมยืนยันว่าเป็นวิธีที่ถูกกฎหมาย ทั้งนี้ผู้เสียหายต้องโอนเงินไปสำรองเงินในบัญชีไว้ก่อนเพื่อจะดึงงบสอบสวนออกมาไว้ก่อน และยังอ้างว่าเพื่อนเป็นพนักงานหลังบ้านของธนาคารแห่งหนึ่งอีกด้วย ซึ่งผู้เสียหายหลงเชื่อ วันที่ 10 ตุลาคม 2567 โอนเงินเข้าบัญชีชื่อ ส.ต.อ.นายดังกล่าวจำนวน 150,000 บาท ต่อมา ส.ต.อ.ออกอุบายว่าต้องการเงินสำรองอีก 100,000 บาท ผู้เสียหายจึงโอนเงินเข้าบัญชีเดิมอีกครั้ง เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2567 รวม 2 ครั้ง 250,000 บาท ต่อมาหญิงวัย 70 ผู้เสียหายไม่ได้รับเงินคืน จึงได้สอบถามและทวงถามไปยัง ส.ต.อ. ก็ถูกบ่ายเบี่ยงเรื่อยมา จึงเข้าแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดีกับ ส.ต.อ.ซึ่งจากข้อมูลความผิดชัดเจน ต้องดำเนินคดีทางอาญาและทางวินัยอย่างเด็ดขาด พร้อมสืบสวนสอบสวนว่ามีผู้อื่นเกี่ยวข้องด้วยหรือไม่ และดำเนินคดีโดยไม่ละเว้น ในส่วนคดีที่ผู้เสียหายถูกฉ้อโกงกำชับพนักงานสอบสวนเร่งรัดสอบสวนส่งประเด็นไปยังกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) และขอประชาสัมพันธ์กับพี่น้องประชาชนหากได้รับความไม่เป็นธรรม หรือมีข้อสงสัยการปฏิบัติงานของตำรวจให้ติดต่อสอบถาม แจ้งเหตุมาที่ ผกก.ทุกสถานี ผบก.ภ.จว. หรือแจ้งมาที่ตำรวจภูธรภาค 2 ทางโทรศัพท์ หรือโซเชียลมีเดีย
|