“อมตะ” ร่วมกับบริษัทที่ปรึกษาฯ การจัดทำรายงาน EIA จัดประชุมรับฟังความเห็นประชาชนครั้งที่ 1 โครงการอมตะซิตี้ ชลบุรี (โครงการ 2) พื้นที่ฉะเชิงเทรา
|
เมื่อวันที่ 29 กรกฏาคม – 6 สิงหาคม ที่ผ่านมา บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) ร่วมกับ บริษัท ทีแอลที คอนซัลแตนส์ จำกัด ในฐานะบริษัทที่ปรึกษาด้านการศึกษาและการจัดทำรายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment : EIA) โครงการนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี (โครงการ 2) จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนครั้งที่ 1 ต่อขอบเขตการศึกษารัศมี 5 กิโลเมตรจากขอบพื้นที่โครงการ จังหวัดฉะเชิงเทรา เพื่อชี้แจงรายละเอียดของโครงการ และรวบรวมความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ ข้อห่วงกังวล ของประชาชนผู้มีส่วนได้เสีย เพื่อนำมาใช้ประกอบการศึกษา และการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ให้ครบถ้วน และครอบคลุม
โดยการจัดประชุมในครั้งนี้ผู้ดำเนินโครงการและบริษัทที่ปรึกษาได้ลงพื้นที่รับฟังความคิดเห็นประชาชนแบบกลุ่มย่อยใน 8 ตำบล 2 อำเภอ ของจังหวัดฉะเชิงเทรา ได้แก่ ต.บางปะกง ต.เขาดิน ต.ท่าสะอ้าน อ.บางปะกง และ ต.หนองตีนนก ต.บ้านโพธิ์ ต.แสนภูดาษ ต.บางซ่อน ต.คลองบ้านโพธิ์ อ.บ้านโพธิ์ จ.ฉะเชิงเทรา ทั้งนี้มีประชาชนในพื้นที่ ผู้บริหาร พนักงานหน่วยงานราชการส่วนท้องถิ่น หน่วยงานราชการจากส่วนกลาง และสื่อมวลชนเข้าร่วมรับฟังการชี้แจงรายละเอียดโครงการรวมถึงให้ข้อเสนอแนะรวมกว่า 1,000 คน
ทั้งนี้รูปแบบของการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี (โครงการ 2) ได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบการพัฒนาจากเดิมสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะ (Smart City) โดยความร่วมมือกับผู้พัฒนาเมืองอัจฉริยะชั้นนำจากหลายประเทศ อาทิ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน และประเทศจีน และรองรับอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เน้นการใช้เทคโนโลยีนวัตกรรมใหม่ เพิ่มมากขึ้น สนองตอบแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญได้อย่างมีประสิทธิภาพในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC โดยมีความมุ่งมั่นที่จะทำให้ชุมชนในพื้นที่ได้รับประโยชน์มากที่สุด และเป็นศูนย์การเรียนรู้ในภูมิภาคสร้างความเจริญเติบโตและสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจแก่ประเทศไทยต่อไป
ประโยชน์ที่จะได้รับจากโครงการ ทำให้เกิดการสนับสนุนการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายของรัฐที่ไม่ก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมและมุ่งสู่เมืองคาร์บอนต่ำ ลดการใช้พลังงานและการปล่อยมลพิษ สร้างรายได้และกระจายความเจริญให้กับประชาชนในพื้นที่ รวมทั้งชุมชนที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียง เพิ่มการจ้างงาน และเพิ่มโอกาสทางการศึกษาให้กับคนในชุมชน โดยมีการเพิ่มทักษะในการประกอบอาชีพต่างๆ มีการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนที่ทำงานในนิคมฯและชุมชนโดยรอบนิคมฯ ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นไปพร้อมๆกัน
|
ภาพ/ข่าว มานพ ชลบุรี
|
|
|